คนไทยใจดี กับกระแสทำบุญและการระดมทุนผ่านสื่อออนไลน์ OneEyeOneHelp

คนไทยใจดี กับกระแสทำบุญและการระดมทุนผ่านสื่อออนไลน์ OneEyeOneHelp


คำกล่าวที่ว่าเมืองไทยเมืองพุทธ คนไทยใจดี คนไทยชอบทำบุญ คนไทยชอบช่วยเหลือคนอื่น เป็นคำกล่าวที่มักจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ
จึงเห็นขอทานมีอยู่ทั่วไปเป็นเรื่องชินตา ตั้งแต่อยู่ในสภาพพิการร่างกายไม่สมประกอบ
หรือบางคนดูแล้วก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใด 
ไม่ก็เป็นแม่อุ้มลูกเล็ก ๆ บางครั้งเห็นเป็นเด็กอ่อนตัวแดง ๆ อยู่ด้วยซ้ำ 
หรือกระทั่งเด็กอายุไม่กี่ขวบซึ่งควรอยู่ในโรงเรียนมากกว่ามานั่งขอทานแบบนี้ 
บางคนร้องเพลงแลกเงิน หรือขายของเล็ก ๆ น้อย อันนี้ไม่อยากเรียกว่าขอทาน  
เพราะถือว่าพวกเขาทำงานแลกกับเงิน โดยที่ไม่ได้แบมือขอฟรี ๆ 

เครดิตภาพจากมูลนิธิกระจกเงา
หลาย ๆ ครั้งอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า ขอทานเหล่านี้ เป็นอาชีพหรือเป็นธุรกิจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ เพราะถือเป็นธุรกิจที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย 
แถมข่าวตำรวจจับกุมแก๊งค์ขอทานมีให้ได้ยินบ่อย ๆ 
ตัวเลขรายได้ของแก๊งค์ขอทานเหล่านี้ได้ยินแล้วต้องหูผึ่ง เพราะมากกว่าเงินเดือนทั้งเดือนที่เราตั้งใจทำงานอย่างหนักหลายเท่าตัว 

ยิ่งในโลคยุคดิจิตอลที่สื่ออินเตอร์เนทและ Social ต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
จึงเห็นการระดมทุนผ่านทาง facebook, Instagram, Twitter อยู่บ่อย ๆ หรือแม้กระทั่งเวปไซต์ยอดนิยมอย่าง pantip.com ก็มีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือน้องหมาน้องแมว นับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็มีหลายครั้งที่มิจฉาชีพใช้ความใจดีและช่องโหว่บางประการหลอกลวงและกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตัวเอง แต่ในที่สุดก็หนีความจริงไม่พ้น ถูกจับได้และนำความจริงมาเปิดโปง และก็มีจุดจบและบทลงเอยแตกต่างกันไปตามแต่กรรมและวาระของแต่ละคน 
คนที่เล่น pantip.com เป็นประจำ อาจจะเคยผ่านตามาแล้วหลาย ๆ เคส จนไม่ต้องยกเรื่องนี้เป็นตัวอย่างให้ช้ำใจอีก เพราะมีให้เห็นเป็นดราม่าอยู่เสมอ ๆ พล็อตเดิม ๆ แต่เปลี่ยนตัวละคร 

คนใจดีหลายคนใน pantip.com ถึงขั้นเข็ดขยาดและหวาดระแวงที่จะทำบุญ หรือหากจะทำบุญครั้งใดก็มีการเช็คข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้น เรียกว่าเจ็บแล้วจำ แต่ก็ยังอยากช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ในขณะที่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่าทำบุญไปไม่ได้หวังอะไรอยู่แล้ว อยากให้ดูที่เจตนา ส่วนคนที่มาขอรับบริจาคจะเอาไปทำดีทำชั่วอย่างไร อันนั้นก็สุดแล้วแต่กรรมเก่า  จึงทำให้มิจฉาชีพยังแฝงตัวอยู่ในสังคมได้ และคอยหาโอกาสฉกฉวยผลประโยชน์ให้กับตัวเอง 

ล่าสุด มีกระแสการระดมเงินบริจาคผ่าน Instagram ผ่าน hashtag OneEyeOneHelp  โดยการถ่ายภาพดวงตาแล้วแชร์ใน Instagram ซึ่ง 1 ภาพ จะแปลงเป็นเงินบริจาค 10 บาท โดยโปรเจคนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 4 วันที่แล้ว ผ่าน Instagram  @mmmami ซึ่งอ้างว่าเป็นโปรเจค Community and Service ของกลุ่มนักเรียนเกรด 8 จากโรงเรียนนานาชาติเคไอเอส (วันที่้เขียน blog นี้คือ 21/3/2014 เวลาประมาณห้าโมงเย็น) 

OneEyeOneHelp

OneEyeOneHelp
เพียงไม่นานโปรเจคนี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีการถ่ายภาพดวงตาและแชร์โดยติด hashtag OneEyeOneHelp มากกว่าหนึ่งหมื่นภาพ ณ ปัจจุบัน เรื่องทำบุญขอให้บอก คนไทยเราใจดีและอยากมีส่วนร่วมอยู่แล้ว 


ทีนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่าแล้วเงินบริจาคจะมาจากไหน?????

โดยส่วนตัว มีความสนิทสนมกับคุณ ปี่ Digital Marketing Manager ของทางแสนสิริ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ของการทำ Digital Marketing  โดยคุณปี่ ได้ให้ความเห็นว่า โปรเจคนี้ฟังดูแล้วไม่ชอบมาพากลตั้งแต่แรก เพราะแชร์ 1 รูป สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ถึง 10 บาท ขนาด คุณตัน @Ichitan ยังให้แค่ like ละ 1 บาท โอกาสและความเป็นไปได้ในแง่ของแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่จะสนับสนุนมีน้อยมาก เพราะขาดความชัดเจน

และพอมีคนตั้งคำถามใน Instagram ของ @mmmami ก็ไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดถึงที่มาของเงินสนับสนุนโครงการนี้
OneEyeOneHelp

วันนี้ตัวผมเองและทางทีมงานของ catmint.in.th เกิดใจตรงกัน เลยโทรเข้าไปที่ KIS International School เพื่อสอบถามความแน่ชัดของโปรเจคนี้

ลองไปฟังคลิปเสียงที่ทีมงาน catmint.in.th ได้ทำการบันทึกไว้นะครับ เป็นบทสนทนากับอาจารย์ฝ่ายประสานงานของทาง KIS 


ซึ่งหลังจากฟังแล้วก็พบกับความไม่ชัดเจนของคำตอบ และยังคลุมเคลืออยู่ว่าโปรเจคนี้มีจริงหรือไม่? 

ในขณะที่ผมโทรไปเวลาประมาณบ่ายโมง ก็ได้รับคำตอบใกล้เคียงกัน คือความไม่ชัดเจนของโครงการ ซึ่งทาง KIS International School แจ้งว่าไม่ใช่โปรเจคของทาง KIS International School แต่เป็นโปรเจครายวิชาของทางนักเรียนซึ่งตอนนี้ กำลังเข้าเรียนอยู่และจะจบชั่วโมงประมาณบ่าย 3 ทาง KIS International School เองไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ ต้องรอสอบถามจากตัวนักเรียนเอง ผมจึงได้แจ้งไปว่าตอนนี้โปรเจคนี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่ว และเป็นกระแสโด่งดังใน Instagram เพราะดารา นักร้อง หลายคนก็ร่วมโพสท์รูปดวงตาและติด hashtag OneEyeOneHelp  แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยว่าแหล่งเงินบริจาคของโครงการนี้จะมาจากไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเพียงการสร้างกระแสใน Social ของนักเรียนเพียงไม่กี่คน บางคนตั้งคำถามหนักถึงขั้นสงสัยว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้จะฮุบเอาเงินบริจาคไปเป็นของตนเองหรือไม่ 


พอตอนบ่าย 3 อาจารย์ท่านเดิมของ KIS International School  ติดต่อกลับมา โดยใช้เบอร์ 02-2743450 พร้อมชี้แจงว่าโปรเจคนี้เป็นเหมือนโครงงานของนักเรียนในคลาส Community and Service ซึ่งจะให้เด็กมีโอกาสลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง 
และพอถามถึงเรื่องที่มีของแหล่งเงินสนับสนุนจากการแชร์ภาพ กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน 

OneEyeOneHelp

ผมจึงแจ้งความประสงค์ที่จะขอทราบรายละเอียดของโครงการ เนื่อจากหลาย ๆ คนตั้งข้อสงสัยกับโปรเจคนี้ว่าเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเล่นสนุกของเด็กไม่กี่คน 
หลังจากนั้นไม่นาน Instagram ของ @mmmami ก็ขึ้นภาพที่เห็นด้านล่าง พร้อมกับขอบคุณและแจ้งว่าโปรเจคนี้บรรลุวัตถุประสงค์ได้เร็วเกินความคาดหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อมีการถามถึงที่มาของแหล่งเงินทุนกลับไม่มีคำตอบแต่อย่างใด และไม่เคยมีการแจ้งถึงเป้าหมายของกิจกรรมนี้ว่าจำกัดอยู่ที่จำนวนภาพที่แชร์ทั้งหมดกี่ภาพ

OneEyeOneHelp

ทางผมเองได้สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมผ่านอาจารย์ฝ่ายประสานงานของ KIS แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ  เข้าใจว่าทาง KIS International School ไม่น่าจะรู้เรื่องโปรเจคนี้ และเป็นเหมือนโปรเจคที่นักเรียนทำในชั้นเรียนเท่านั้น 

เมื่อคาดคั้นถึงความชัดเจนของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินบริจาค ในที่สุดทาง KIS ก็แจ้งว่าไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ ต้องรอคำตอบจากทางนักเรียนที่เป็นเจ้าของโปรเจค ซึ่งจะสามารถติดต่อกลับมาทางผมได้ในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2557 

เข้าใจว่าทาง KIS International School กำลังหาทางออกและจุดจบที่สวยงามให้กับทางนักเรียนที่เป็นเจ้าของโครงการนี้ อาจจะเป็นเพียงโปรเจคทดลองที่ทำกันขึ้นมาเล่น ๆ ในชั้นเรียน แต่ปรากฎว่าได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม และเป็นกระแสในโลกโซเชียล และไม่แน่ว่าแหล่งเงินทุนสำหรับการบริจาคในโครงการนี้อาจจะเป็นเงินจากผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเองก็ได้   

คงต้องรอจนถึงวันจันทร์ เพื่อพูดคุยกับน้องนักเรียนเจ้าของโปรเจค ถึงจะได้ทราบความจริงของโครงการนี้

บางคนอาจบอกว่าไปจับผิดทำไม ในเมื่อเด็กก็หาเงินไปทำเรื่องดี ๆ เงินที่ได้ก็จะนำไปบริจาคให้สถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อนพญาไท ขอชี้แจงไว้ ณ ทีนี้ว่าไม่ได้จับผิด แค่อยากได้ความชัดเจน เพราะเชื่อว่าคนไทยยินดีช่วยเหลืออยู่แล้ว 

แต่ไม่อยากให้มิจฉาชีพใช้วิธีเดียวกันนี้เป็นช่องทางทำมาหากินและลอยนวลอยู่ในสังคมไทยอยู่

หรือโปรเจคนี้จะเป็นเหมือนกับการขอ like ทาง Facebook ของเด็ก ๆ ที่เป็นเพียงการเล่นสนุก ๆ บ้างก็เพื่อให้ผู้ปกครองซื้อของเล่นให้ หรือบางคนขอ Like เพื่อให้เมียปล่อยให้ไปเที่ยวกลางคืนได้ก็มี

กระแสโซเชียลมันเร็วและลามไว บางทีทำอะไรอาจต้องคิดเยอะ ๆ
  





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น