บทสรุป One Eye One Help เจตนาดี แต่ขาดความชัดเจน อีกหนึ่งบทเรียนในการสื่อสารที่ผิดพลาดผ่าน Social Media

บทสรุป One Eye One Help เจตนาดี แต่ขาดความชัดเจน อีกหนึ่งบทเรียนในการสื่อสารที่ผิดพลาดผ่าน Social Media


ถือเป็น Case Studies ที่สำคัญสำหรับการใช้ Social ในเมืองไทย สำหรับการระดมทุนเงินบริจาคที่กำลังเป็น Talk of the town อยู่ในขณะนี้ โดยการแชร์รูปตาผ่าน ทาง Instagram โดย 1 แชร์ สามารถเปลี่ยนเป็นเงิน 10 บาท ในโครงการ One Eye One Help

เพราะพอเริ่มมีคนในวงการบันเทิงเริ่มแชร์ภาพ กระแสก็แรงแบบฉุดไม่อยู่แล้ว
OneEyeOneHelp

OneEyeOneHelp

จะว่าไปแล้วเพียงระยะเวลาไม่กี่วัน การแชร์รูปดวงตาผ่าน Instagram ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าแล้วเงินบริจาคที่ว่าจะมาจากไหน จนเป็นที่มาของการสืบหาความชัดเจนและที่มาที่ไปของโครงการในช่วงที่ผ่านมา (ทั้งที่ก่อนหน้านั้น หลายคนแชร์โดยไม่ฉุกคิด เพราะอย่างที่รู้กันว่าคนไทยใจดีและชอบทำบุญ แค่แชร์รูปภาพผ่าน Instagram ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร)

สามารถตามอ่านเรื่องราวก่อนหน้านี้ได้ที่ คนไทยใจดี กับกระแสทำบุญและการระดมทุนผ่านสื่อออนไลน์ #OneEyeOneHelp

ทีนี้พอหลาย ๆ คนตั้งข้อสงสัยเรื่องแหล่งเงินบริจาคและสอบถามไปยัง Instagram ของน้อง ๆ ผู้ริเริ่มโครงการ One Eye One Help กลับไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด จนกระทั่งมี blogger หลาย ๆ ท่านโทรศัพท์ไปสอบถามความแน่ชัดของโครงการกับทาง KIS International School ซึ่งทาง KIS International School ไม่ได้เป็นผู้จัดโครงการนี้และไม่ทราบรายละเอียด รู้แต่เพียงว่าเป็นโปรเจคของนักเรียนเกรด 8 ที่ทำในชั้นเรียน Community and Service

พอกระแสท้วงถามถึงความชัดเจนของโครงการนี้แรงขึ้น ปรากฎว่าไม่นานนัก Instragram ของ @mmmami ก็ได้ขึ้นภาพขอยุติกิจกรรมเนื่องจากครบตามเป้าหมายแล้ว !!!??? ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพูดถึงเป้าหมายของโครงการแต่อย่างใด นอกจากประเด็นการแชร์รูปดวงตาผ่าน Instagram แลกกับเงินบริจาค 10 บาทต่อ 1 ภาพ


รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ One Eye One Help ยังคงมืดมัว เพราะไม่ว่าใครสอบถามไปยัง Instagram ของทางทีมงานของโครงการก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ  และเมื่อเพจดังอย่าง Drama addict นำเรื่องราวเกี่ยวกับ คนไทยใจดี กับกระแสทำบุญและการระดมทุนผ่านสื่อออนไลน์ #OneEyeOneHelp ไปลงในเพจ ก็เหมือนจะเป็นการปลุกกระแสเรื่องนี้ให้คนหันมาสนใจมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคลางใจว่าเงินบริจาคจะมาจากไหน แต่เพราะการแชร์ภาพดวงตาและติด hashtag #OneEyeoneHelp ทำได้ไม่ยาก  จึงทำให้การแชร์ภาพดวงตาผ่าน Instragram เกิดเป็นกระแสอันรวดเร็ว แต่พอมีคนสอบถามไปทางสถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อนพญาไท จนเป็นที่มาของภาพที่แชร์กันอยู่ล่าสุดเกี่ยวกับ โครงการ OneEyeoneHelp

OneEyeOneHelp

หลังจากนั้นไม่นาน คุณ @kaii888 ได้เข้ามาชี้แจงใน Instagram ของ @mmmami ว่ากิจกรรมนี้มีอยู่จริงเพียงแต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในชั้นเรียนเท่านั้น และที่สำคัญเงินบริจาคก็ไม่ได้มาจากสปอนเซอร์แต่อย่างใด แต่เป็นเงินของเด็กนักเรียนเองที่ได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ และบางส่วนสมทบทุนมาจากผู้ปกครองของเด็ก ๆ   (อ่านกันได้จากภาพที่เซฟมานะครับ)

แต่เชื่อว่าการที่คุณ @kaii888 บอกว่าทางโรงเรียนรับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี คงไม่ใช่เรื่องจริงแน่ ๆ และมัั่นใจว่าคุณ @kaii888 คงยังไม่ได้ฟังคลิปเสียงการสนทนาของทีมงาน catmint.in.th กับทาง KIS International School ยังไงคุณ @kaii888 มีโอกาสเข้ามาอ่าน blog หรือคนที่อยากทราบรายละเอียดลองไปฟังคลิปเสียงกันได้นะครับ ฟังดูแล้วจะทราบว่าทาง KIS International School พยายามแบ่งรับแบ่งสู้ และกำลังหาทางรับมือกับปัญหานี้อยู่

https://soundcloud.com/catmintinth/oneeyeonehelp-clarification

ขอบคุณคลิปเสียงจาก catmint.in.th

OneEyeOneHelp

คำตอบเมื่อออกมาในรูปแบบนี้ถึงแม้จะไม่ชัดเจนนัก แต่ก็สามารถสรุปได้ว่า โครงการ OneEyeoneHelp เป็นเพียงกิจกรรมของเด็ก ๆ ที่จัดขึ้นมาเป็นการภายในเท่านั้น เงินทุกบาทสำหรับโครงการนี้ก็มีการจัดหาไว้เรียบร้อย ซึ่งคือเงินของเด็ก ๆ เองและส่วนหนึ่งสมทบจากผู้ปกครอง  ไม่ได้มีสปอนเซอร์ใหญ่หรือแบรนด์ใดสนับสนุนอย่างเป็นทางการ โดยมีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 100,000 บาท และเป็นเพียงโครงร่างของโครงการเท่านั้น ทาง KIS International School ไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด และทางสถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อนพญาไทก็ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการนี้ เนื่องจากยังไม่มีใครติดต่อเข้าไปอย่างเป็นทางการ มีเพียงการติดต่อเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น เหมือนกับเวลาที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายต้องการไปบริจาคของหรือเลี้ยงอาหารตามมูลนิธิต่าง ๆ ก็จะโทรเข้าไปก่อนเพื่อสอบถามข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ  (ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าเป็นเพียงโครงร่างของโครงการเท่านั้น)

 การที่โครงการนี้เป็นเพียงโครงร่าง แต่ถูกเผยแพร่ผ่าน Instagram และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีโดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้การแชร์ภาพดวงตากลายเป็นเหมือนจดหมายลูกโซ่ เพราะคนต่างแชร์ภาพไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินบริจาคจะมาจากไหน และเป้าหมายของโครงการตั้งไว้อย่างไร

 แต่จุดที่ข้องใจคือทำไมนักเรียนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการ One Eye One Help  ไม่ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดให้ชัดเจนตั้งแต่แรก และปล่อยให้สังคมตั้งคำถาม จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ซึ่งถึงแม้จะมีเจตนาดี  แต่ก็ทำให้เกิดข้อกังขาในสังคม หรือกำลังต้องการอะไรกันแน่?

กรณีกิจกรรมขอ Like เพื่อจัดกิจกรรมมีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ขอยกกรณีของคุณตัน Ichitan ที่มีการขอ Like จากลูกเพจ แต่ก็มีการแจ้งชัดเจนว่าถ้าได้ 5 แสนไลค์ จะได้เป็นเงิน 100 ล้านจากคุณภรรยา เพื่อพาลูกค้าอิชิตันไปเที่ยวฮอกไกโด


หรืออย่างกรณีขอ Like เพื่อแลกกับ 1 บาท เพื่อเป็นเงินบริจาค สุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องลวงลวงก็มีให้เห็นบ่อย ๆ ถึงขนาดเพจดังอย่าง Drama-addicr เคยเอามาลงไว้แล้ว ไลค์ช่วยโลก!!!

ไม่อยากให้มิจฉาชีพใช้ความใจดีของคนไทยเป็นช่องทางเอาเปรียบคนในสังคม เหมือนกรณีการระดมทุนใน pantip.com เพื่อช่วยเหลือคุณแม่ผู้ประสบเคราะห์จากภัยธรรมชาติ ที่สุดท้ายก็กลายเป็นเคสลวงโลก จน Drama-addict เอามาลงไว้อีกเช่นกัน เคสลวงโลกคุณแม่ผู้ยากไร้

ตัวอย่างการใช้ Social Media ในการระดมทุนเงินบริจาคเพื่อใช้ในโครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร 
สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือแมวจรจัด ซึ่งทางโครงการฯ มีการดำเนินงานและบริหารเงินบริจาคแบบชัดเจน ไม่มีหมกเม็ด

กรณีของเด็กเกรด 8 ของ KIS International School จะบอกว่าเป็นเคสลวงโลกก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะมีการทำโครงร่างของโครงการนี้ขึ้นมาในชั้นเรียน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ประเด็นอยู่ที่การนำเรื่องนี้ออกมาแชร์ใน Social Media โดยไม่แจ้งความชัดเจนของโครงการ  เช่น แหล่งที่มาของเงินบริจาค หรือจำนวนยอดการแชร์ที่จะตั้งเป็นลิมิทไว้ ทำให้เกิดข้อกังขาในสังคมถึงความชัดเจนของโครงการ

แต่ถ้าจะให้บอกว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจริงก็ไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากไม่มีการติดต่อใด ๆ ไปทางสถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อนพญาไทอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

สิ่งที่เกิดขึ้นและสังคมรับทราบคือการแชร์ภาพดวงตาผ่าน Instragram เพื่อแลกกับเงินบริจาคภาพละ 10 บาทให้กับสถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อนพญาไท เรื่องราวดี ๆ แบบนี้ใครจะไม่อยากร่วม ???

เรื่องนี้ถือเป็น Case Studies ที่ต้องจำไว้เป็นบทเรียนสำหรับคนที่จะใช้ Social Media เป็นช่องทางในการกิจกรรมต่าง ๆ เพราะสังคมคอยจับตาและคอยตั้งคำถามถึงความถูกต้อง หากคิดจะใช้ Social Media เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรม ความชัดเจนถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการระดมทุนเงินบริจาค เชื่อว่ามีหลาย ๆคนจับตามองอยู่ เพราะไม่อยากให้มิจฉาชีพใช้วิธีนี้เป็นช่องทางทำมาหากิน

โครงการ One Eye One Helpจะไปต่อว่าเด็กเรื่องเจตนาดีที่คิดโครงการนี้ขึ้นมาก็ไม่เหมาะสมนัก ยิ่งพอรู้ว่ามีผู้ใหญ่รับทราบความเป็นไปแต่กลับไม่ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง คนที่ควรถูกตำหนิเป็นอย่างยิ่งคือผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ถ้าจะจัดกิจกรรมแบบระดมทุนกันเองเป็นการภายในแบบนี้แล้วไปทำบุญ ควรหรือไม่ที่จะต้องเอามาแชร์ให้เกิดเป็นกระแสและกลายเป็นข้อกังขาใน Social Media !!!???

ไม่อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ One Eye One Help เล่นกับความรู้สึกของคนในสังคมแบบนี้ เพราะอาจทำให้ผู้ที่ต้องการระดมทุนเพื่อหาเงินบริจาคสำหรับกิจกรรมดี ๆผ่าน Social Media ต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากสังคมจะคอยตั้งคำถามถึงความชัดเจนของแต่ละโครงการ

มิจฉาชีพที่ปลอมตัวแฝงอยู่ในสังคมนี้มีอยู่มากมาย อย่าเปิดโอกาสหรือทำให้พวกเขาเหล่านั้นหากินกับความรู้สึก ดี ๆ ของผู้คนในสังคมไทยเลย

ถึงเจตนาจะดี แต่สังคมก็ต้องการความชัดเจน!
ส่วนกิจกรรม  One Eye One Help จะนำเงิน 100,000 บาท ไปบริจาคให้กับมูลนิธิบ้านเด็กอ่อนพญาไทหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องคอยติดตาม ไม่อย่างนั้นการแชร์ภาพดวงตาผ่าน Instagram ก็จะเป็นเหมือนจดหมายลูกโซ่ที่เด็กเลี้ยงแกะเล่นกันสนุก ๆ ในหมู่เพื่อนโดยมีผู้ใหญ่รู้เห็นเป็นใจก็เท่านั้นเอง


มีการชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ One Eye One Help ผ่านทาง Instagram ของ @mmmami โดยคุณ @pikularoon ซึ่งสามารถตอบคำถามที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ดีทีเดียว และเชื่อว่าหากมีการชี้แจงรายละเอียดแบบนี้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สังคมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเพื่อถามหาความชัดเจนอย่างแน่นอน 


ล่าสุดการแชร์ภาพผ่าน Instagram และติด Hashtag OneEyeOneHelp มียอดแชร์เกือบ 50,000 ครั้งไปแล้ว และไม่มีทีท่าว่าการแชร์ภาพดวงตาและติด Hashtag ดังกล่าวจะหยุดลงได้ ทั้งที่ทางทีมงานผู้จัดโครงการนี้ได้ประกาศยุติโครงการอย่างเป็นทางการแล้ว กลายเป็นกระแสจดหมายลูกโซ่ผ่าน Social Media ในโลกยุคดิจิตอลที่น่าจับตามอง ว่าจะจบลงเมื่อใด

OneEyeOneHelp

อัพเดท 23/03/2014 เวลา 21.24 น.
โพสท์ล่าสุดของ @pikularoon ใน Instagram ของ @mmmami ได้แจ้งว่ามาจดหมายอย่างเป็นทางการจาก KIS International School แล้ว และโพสท์ใน #OneEyeOneHelp

OneEyeOneHelp
การที่ทาง KIS International School เพิ่งออกจดหมายชี้แจงกรณีโครงการ One Eye one Help
ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายว่าทาง KIS international School คงกำลังหาทางออกและข้อยุติที่ดีที่สุดสำหรับกรณีนี้ เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เจ้าของโครงการต้องได้รับผลกระทบจากกระแส Social Media จนหมดกำลังใจในการทำความดี

OneEyeOneHelp
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ติดตามเรื่องราวของโครงการ One Eye One Help  ตั้งแต่แรก จนได้รับความกระจ่างจะเข้าใจในเจตนาที่ดีของน้อง ๆ นักเรียน ถึงแม้จะบกพร่องในเรื่องของการสื่อสารจนทำให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

กิจกรรมดี ๆ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการก็ตาม ความชัดเจนถือเป็นเรื่องที่ต้องมาควบคู่ไปกับเจตนาที่ดี เพื่อไม่ให้สังคมตั้งคำถาม สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการ One Eye One Help น้อง ๆ นักเรียนคงได้ประสบการณ์ที่ดีและมีค่าไปแล้ว

ปัจจุบัน การแชร์ภาพดวงตาและติด Hashtag #OneEyeOneHelp ก็ยังดำเนินไปเรื่อย ๆ จนมียอดการแชร์เกิน 50,000 โพสท์แล้ว เพราะมีอีกหลาย ๆ คนที่ยังไม่ทราบความจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ รวมไปถึงการยุติกิจกรรมลงไปแล้วหลังจากที่มีการแชร์ภาพครบ 10,000 ภาพ

จะเป็นการดีหากทุกท่านร่วมกันนำเสนอความจริงและสะท้อนถึงเจตนาอันดีของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ รวมไปถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้และการยุติลงของโครงการ One Eye One Help และบอกต่อ ๆ กันไปในโลก Social เพื่อให้การแชร์ภาพดังกล่าวยุติลง และปิด Case Studies ที่สำคัญของการใช้ Social Media ในการระดมเงินบริจาคอีกเคสหนึ่งลง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น